วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ที่มาของ TQA

รางวัลคุณภาพแห่งชาติหรือ TQA เป็นการนำเอาแนวทางและหลักการมาจากสหรัฐอเมริกา โดยนำเอาหลักการที่ชื่อว่า MBNQA หรือ Malcolm Baldrige National Quality Award มาใช้ โดยรางวัลนี้ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ Mr. Malcalm Baldrige ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในยุคปี ค.ศ. 1980 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญกาทางด้านการแข่งขันกับประเทศเศรษฐกิจใหม่

มีหลายประเทศที่ได้นำหลักการจัดการ MBNQA ไปใช้ ซึ่งปัจจุบันนี้มีถึ ง 70 กว่าประเทศทั่วโลกที่ได้นำหลักการนี้ไปใช้ และประเทศในเอเชียที่ได้นำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติของตนได้แก่ สิงคโปร์ (Singapore Quality Award SQA) ประเทศญี่ปุ่น (Japan Quality Award JQA)

ในส่วนของหลักการที่เป็นใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินของ MBNQA นั้นจะพูดถึงในครั้งต่อไปครับ

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

TQA รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ บริษัทไหนๆ ก็อยากจะได้ แม้แต่หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐก็ฝันที่จะได้กับเขา อยากรู้จริงๆว่าจะเอาไปทำไมกัน หลังจากที่ผู้บริหารได้เชิญผู้บริหารจากคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติมาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการจะนำพาองค์กรให้ได้รางวัลนั้นต้องทำอย่างไร แค่ยังฟังไม่จบวันก็รู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามและท่มเทอย่างหนัก ขนาดว่า 5 ส จะดันให้เกิดยังไม่ขึ้นเลย นี่จะหวังไปคว้ารางวัลระดับชาติยิ่งไปกันใหญ่

รางวัลนี้แจกให้ 2 ระดับ คือหากบริษัทได้คะแนนสูงกว่า 650 จะได้รางวัล TQA แต่ถ้าได้ไม่ถึง 650 แต่มีคะแนนสูงกว่า 350 จะได้รางวัล TQC (Total Quality Class)

มาดูกันว่าใครเคยได้รางวัลนี้กันบ้าง

- บ.ไทยอะครีลิคไฟเบอร์ ได้ TQA ปี 2545 ฟังชื่อบริษัทแล้วคงไม่ค่อยชินหู แต่ไหงดันได้รางวัล ที่แท้แล้วบริษัทนี้มีบริษัทแม่ที่อินเดียซึ่งมีระบบการจัดการดีมากถึงขนาดได้รับรางวัลคานธี จึงนำเอาระบบมาใช้ในบริษัทลูก ไม่ธรรมดาเลยใช่ไฟม

- บ.ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย ในเครือของซีเมนต์ไทย ได้ TQA ในปี 2546

- โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง บ.ปตท. ได้ TQA ในปี 2549

ส่วนปีที่เหลือไม่มีใครได้รางวัล ส่วนบริษัทที่ได้ TQC มีหลายที่ ไว้จะมาเล่าให้ฟังต่อไปครับ

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความสามารถในการแข่งขันของไทย

ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรเป็นตัวขับเคลื่อนระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในแต่ละปีจะมีการทำการสำรวจระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดยหน่วยงาน IMD (International Institute for Management Development) ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือของโลก IMD จะทำการส่งแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูลไปให้ทุกประเทศ โดยจะพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับ และจะให้คะแนนในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ด้านธุรกิจ และด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน

จากที่ผ่านๆมา มีประเทศที่ส่งข้อมูลกลับมาประมาณไม่เกิน 60 ประเทศ และประเทศไทยของเราก็เป็นหนึ่งในนั้น และผลการสำรวจในปี 2010 อันดับการแข่งขันของไทยอยู่ในลำดับที่ 27(คลิกดูรูปเพื่อดูภาพขยายใหญ่)

ส่วนอันดับที่ 1 ในปีนี้คือสิงคโปร์ ขยับจากอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว เป็นไงครับแค่ในอาเซียนเราก็ต้องอยู่ในสนามเดียวกับแชมป์โลก แถมยังมีเบอร์ 2 ในกลุ่มอาเซียนคือประเทศมาเลเซียติดอันดับที่ 10 ดูแล้วน่าเป็นห่วงไหมครับ

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

องค์กรในโลกที่แข่งขัน

ทุกวันนี้บริษัทธุรกิจองค์กรทั้งที่เป็นเอกชนและองค์กรของรัฐต่างอยู่ในภาวะของการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลองหันไปมองดูรอบๆ ตัวเราจะเห็นทั้งธุรกิจที่เติบใหญ่แข็งแรงและธุรกิจหรือองค์กรที่ต้องถอยออกไปจากตลาด การอยู่รอดด้วยเป้าหมายการทำกำไรสูงสุดอาจไม่เพียงพอต่อการยืนยาวของธุรกิจอีกต่อไป เราจึงเห็นหลายหน่วยงานที่หันมาให้ความสำคัญในด้านอื่นๆ ที่นอกจากกำไรของเจ้าของบริษัทเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ความผาสุกในการทำงานของพนักงาน การมีส่วนช่วยเหลือสังคมรอบข้างให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง การรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เหล่านี้ล้วนเป็นแนวโน้มของธุรกิจองค์กรที่กำลังปรับเปลี่ยน
บริษัทชั้นแนวหน้าของโลกต่างก็คิดค้นเครื่องมือในการพัฒนาระบบจัดการของตนเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมคุณภาพการผลิต ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม บริหารการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการส่งมอบสินค้า และการติดตามการขายและการบริการเพื่อรักษาลูกค้าให้อยู่เป็นลูกค้าถาวรต่อไป
แม้ว่าเครื่องมือในการพัฒนาองค์กรจะมีมากมายแต่หากจะหยิบยืมมาใช้แล้ว องค์กรก็ควรจะปรับให้เข้ากับบริบทของตนเอง ไม่มีระบบใดในโลกที่จะสามารถสอดคล้องกับทุกองค์กร สิ่งที่องค์กรต้องทำคือรู้จักตนเองให้มากที่สุดและกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการไปสู่เป้าหมายที่กำหนดแล้วจึงนำเครื่องมือที่คนอื่นคิดไว้แล้วมาปรับปรุงใช้ หรือท้ายสุดแล้วองค์กรสามารถปรับสร้างจนเป็นนวัตกรรมเครื่องมือใหม่ที่สอดรับการวํฒนธรรมขององค์กรเลยก็ว่าได้